Home | ข่าวสารและบทความ | อ่านก่อนพัง ! แชร์ 5 สิ่งห้ามใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาด

LTP

อ่านก่อนพัง ! แชร์ 5 สิ่งห้ามใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาด

น้ำส้มสายชูเป็นส่วนผสมสไตล์โฮมเมดยอดฮิต ที่มีคุณสมบัติครอบจักรวาลในเรื่องของการใช้ทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่น้ำส้มสายชูนั้นเป็นวัตถุดิบที่มีความเป็นกรดจึงไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้กับพื้นผิวบางชนิด ซึ่งในวันนี้ LTP จะมาแชร์ 5 สิ่งไม่ควรใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาด พร้อมกับ 4 สิ่งที่ใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดได้อย่างหมดจด เป็นเคล็ดลับที่ช่วยประหยัดงบได้แบบง่ายๆ สบายๆ 


Photo by Precious Plastic Melbourne on Unsplash


1 . เคาน์เตอร์หินประเภทต่างๆ 


น้ำส้มสายชูเป็นวัตถุดิบที่มีความเป็นกรดสูง ไม่ควรนำมาใช้กับเคาน์เตอร์วัสดุหินหรือมีพื้นผิวที่เป็นหิน  ทั้งหินแกรนิตหรือหินอ่อนลวดลายสวยที่มีความแข็งแรงสูงก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะพื้นผิวของหินมักเกิดรอยง่าย และจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเล็กๆ ซึ่งหากสัมผัสกับกรดจะถูกกัดกร่อนทำลาย ทำให้เสียหายได้ง่าย ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำส้มสายชูเช็ดถูเคาน์เตอร์หินและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหิน รวมถึงพื้นหินด้วย แนะนำว่าใช้น้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาขจัดคราบโดยเฉพาะสำหรับหินจึงจะเป็นการรักษาพื้นผิววัสดุได้ดีที่สุด 


2 . พื้นไม้เคลือบ


พื้นไม้เคลือบจะมีสารเคลือบเงาที่ทำให้หน้าไม้ดูสวยและเงางาม ซึ่งจะสามารถหลุดออกได้หากถูกน้ำส้มสายชูที่เป็นกรด นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้ด้านในถูกทำลายเสียหาย อายุการใช้งานลดลงอีกด้วย ซึ่งวิธีการทำความสะอาดพื้นไม้ควรกวาดฝุ่นให้สะอาดก่อนในเบื้องต้น จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหรือไม้ถูพื้น บิดน้ำให้หมาดแล้วนำมาเช็ดถูคราบสกปรก ร่องรอยสกปรกต่างๆ ออก แล้วจึงให้ผ้าสะอาดเช็ดซ้ำอีกครั้งเพื่อไม่ให้ชื้นมาก หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นไม้เคลือบโดยเฉพาะก็ได้


3 .ยาแนวกระเบื้อง


ยาแนวกระเบื้องเป็นจุดที่มีคราบสกปรกและคราบราดำสะสมมากโดยเฉพาะพื้นกระเบื้องห้องน้ำ การใช้สารเคมีเข้มข้น เช่น การเทน้ำยาล้างห้องน้ำแบบไม่เจือจางลงไปโดยตรงหรือใช้น้ำส้มสายชูที่เป็นกรดขัดถูทำความสะอาดจะทำให้ยาแนวเสื่อมสภาพ แตกและร่อนออกได้ วิธีการที่อยากแนะนำคือ หากมีคราบสกปรกสะสมไม่มาก สามารถใช้ผงซักฟอกขัดล้างทำความสะอาดด้วยแปรงขัดห้องน้ำ แต่หากมีคราบฝังแน่น ควรเลือกใช้น้ำยาล้างห้องน้ำชนิดไม่กัดร่องยาแนว หรือน้ำยาสูตรถนอมสุขภัณฑ์เพื่อลดรุนแรงและความเสียหาย


Photo by André François McKenzie on Unsplash


4 .ปูนเปลือย


ปูนเปลือยเป็นสิ่งที่ไม่ควรสัมผัสกับกรดเช่นเดียวกับหิน เพราะเป็นพื้นผิวที่มีรูพรุนมาก ส่วนใหญ่วัสดุปูนเปลือยมักนิยมในการตกแต่งสไตล์ลอฟ์ทและการตกแต่งครัวไทย ข้อดีคือมีความแข็งแรงทนทานสูงและล้างคราบสกปรกต่างๆ ออกได้ง่าย แต่ไม่มีสารใดๆ เคลือบทับผิววัสดุเลย จึงต้องระมัดระวังเรื่องการถูกกัดกร่อน วิธีการดูแลรักษาคือ ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาความสวยความแบบเป็นธรรมชาติของเนื้อปูน และไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาที่เป็นกรดหรือสารเคมี หากเป็นเคาน์เตอร์อ่างล้างจานอาจใช้เป็นน้ำยาล้างจานผสมน้ำทำความสะอาดได้


5.อะลูมิเนียม


น้ำส้มสายชูทำปฏิกิริยากับวัสดุประเภทอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดคราบหรือรอยด่างเมื่อนำมาทำความสะอาด และอาจเกิดความเสียหายต่อผิวอะลูมิเนียมได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ครัว เช่น หม้อ กระทะ ซึ่งใช้เพียงน้ำยาล้างจานอย่างเดียวก็สามารถขจัดคราบอาหารได้อย่างสะอาดหมดจด ส่วนอุปกรณ์ประเภทอื่น สามารถใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดทำความสะอาดคราบสกปรกที่ไม่ฝังแน่น แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าแห้งอีกครั้งได้


เมื่อรู้ถึงวัสดุต้องห้ามไปแล้ว ต่อไปจะเป็น 4 สิ่งที่สามารถใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดได้แบบสบายๆ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ประหยัดงบที่ทำได้สม่ำเสมอโดยไม่ต้องกังวลว่าพื้นผิวจะเสียหาย


4 สิ่งที่ใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดได้


1.กระจก


ใช้น้ำส้มสายชูสามารถทำความสะอาดกระจกให้สวยใส ซึ่งจะช่วยขจัดคราบสกปรกสะสมที่เริ่มฝังแน่นและกำจัดรอยนิ้วมือได้ โดยการผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำยาล้างจานอัตราส่วน 1:1 แล้วเช็ดถูด้วยฟองน้ำนุ่มๆ ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำสบู่แล้วล้างออกให้สะอาด 


2.ก๊อกน้ำและอ่างล้างจานสเตนเลส


สเตนเลสเป็นวัสดุที่มีความทนทานสูงสามารถทนกรดอ่อนๆ ของน้ำส้มสายชูได้ และเพื่อลดการใช้น้ำยาและสารเคมีในการทำความสะอาดก๊อกน้ำและอ่างล้างจานสเตนเลส เราสามารถผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 นำไปฉีดพ่นบริเวณที่เกิดคราบด่างบนผิวสเตนเลสได้ จะช่วยปรับสภาพพื้นผิววัสดุให้สวย และดูเงางามเหมือนใหม่


Photo by Anton on Unsplash


3.ไล่สัตว์และแมลง


กลิ่นของน้ำส้มสายชูช่วยไล่สัตว์และแมลงได้หลายชนิด เช่น มด แมลงวัน แมลงสาบ หนู ซึ่งมักเข้ามากินเศษอาหารในห้องครัว และเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร แนะนำว่าควรนำน้ำส้มสายชูมาฉีดพ่นบริเวณที่สัตว์เหล่านั้นผ่าน หรือฉีดตามมุมต่างๆ ในบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ต่างๆ มารบกวร หรือนำสำลีก้อนมาชุบน้ำส้มสายชูแล้วใส่ภาชนะวางทิ้งไว้ตามจุดที่เราต้องการก็ได้


4.ฟองน้ำล้างจาน


ฟองน้ำล้างจานเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่อาจมีกลิ่นเหม็นและสะสมเชื้อโรคได้หากสัมผัสกับคราบอาหารโดยตรง เคล็ดลับคือผสมน้ำส้มสายชู 4 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาดครึ่งลิตร แช่ฟองน้ำล้างจานไว้ 30 นาที จากนั้นซักฟองน้ำด้วยน้ำยาล้างจานอีกรอบหนึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและลดกลิ่นได้ 


ข้อควรระวังในการใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาด


Photo by Anton on Unsplash


-ไม่ควรใช้ร่วมกับน้ำยาฟอกขาว (ไฮเตอร์) ทำความสะอาดเสื้อผ้าเพราะจะทำให้เกิดแก๊สพิษ ปฏิกิริยาอันตราย หากสูดดมจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระคายเคืองตา แสบจมูกและลำคอ

-ควรทดสอบน้ำส้มสายชูกับพื้นผิวก่อนนำมาทำความสะอาดเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และสำหรับคนที่มีอาการแพ้ง่าย ควรสวมถุงมือป้องกันการระคายเคืองผิวหนังเมื่อใช้งาน


Share
แชร์
Share

บทความแนะนำ

สินค้าแนะนำ

สำนักงานใหญ่

บริษัท ลาภทวีภัณฑ์ กรุ๊ป
98,98/1,101 หมู่ที่ 2 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150

แผนที่ LTP

อีเมล

LTP [email protected]